ศัพทานุกรมการวิจัยทางประชากรและสังคม

ช่วยค้นหาศัพท์และนิยามศัพท์วิชาการในสาขาการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ประชากรศาสตร์ และสถิติ โดยคณะทำงานนิยามศัพท์ฯ ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

คำนำบันทึกการทําศัพทานุกรมการวิจัยทางประชากรและสังคม ฉบับปี 2558บันทึกการทําศัพทานุกรมการวิจัยทางประชากรและสังคม ฉบับปี 2547

search

a | b | c | d | e | f | g | h | i | j | k | l | m | n | o | p | q | r | s | t | u | v | w | x | y | z |

| | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | |
 

ความสุข

happiness

ความรู้สึกที่เกิดขึ้นและมีอยู่ในขณะที่ได้รับสิ่งที่ตนต้องการ

ความสุขอาจวัดได้โดยใช้คำถามเดียวหรือชุดคำถาม การวัดด้วยคำถามเดียว เช่น ณ ปัจจุบัน คุณมีความสุขระดับใด คำตอบเป็นแบบมาตราช่วง (interval scale) ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ 0 ถึง 10 โดย 0 หมายถึง สุขน้อยที่สุดหรือไม่มีความสุขเลย 10 มีความสุขมากที่สุด หรืออาจวัดเป็นมาตราอันดับ (ordinal scale) เช่น น้อยที่สุด น้อย ปานกลาง มาก มากที่สุด

ตัวอย่างของการวัดความสุขด้วยชุดคำถาม เช่น โครงการมิเตอร์ความสุข (Happinometer)  วัดโดยการใช้องค์ประกอบ 9 มิติ ได้แก่ สุขภาพดี ผ่อนคลายดี น้ำใจดี จิตวิญญาณดี ครอบครัวดี สังคมดี ใฝ่รู้ดี สุขภาพเงินดี และการงานดี

พุทธศาสนาแบ่งความสุขออกเป็น 5 ขั้น ดังนี้

ขั้นที่ 1 ความสุขจากเสพวัตถุ หรือสิ่งบำรุงบำเรอภายนอก ที่นำมาปรนเปรอ ตา หู จมูก ลิ้น และกายของเรา

ขั้นที่ 2 ความสุขจากการให้ด้วยศรัทธา  เมื่อมนุษย์พัฒนาขึ้น มีคุณธรรม เช่น มีเมตตากรุณา มีศรัทธา เมื่อให้ด้วยศรัทธาก็จะมีความสุขที่แท้จริงจากการให้

ขั้นที่ 3 ความสุขอันเกิดจากการดำรงชีวิตที่ถูกต้อง สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ ไม่หลงอยู่ในโลกของสมมุติ หรือไม่อยู่ด้วยความหวังสุข จากสิ่งสมมุติที่ไม่ยั่งยืน เช่น การทำงานเพื่อหวังผลสำเร็จของงานเป็นจุดหมาย ไม่ใช่ทำงานเพื่อเงิน

ขั้นที่ 4 ความสุขจากความสามารถปรุงแต่ง โดยใช้ “ธรรมสมาธิ” ได้แก่ ปราโมทย์ (ความชื่นบาน) ปีติ (ความอิ่มใจ) ปัสสัทธิ (ความสงบเย็นกายใจ) สุข (ความรื่นใจไร้ความข้องขัด) และสมาธิ (ความสงบอยู่ตัวมั่นสนิทของจิตใจ)

ขั้นที่ 5  ความสุขเหนือการปรุงแต่ง คือ อยู่ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิต

ถึงแม้ว่าพระพุทธเจ้าจะสอนให้มนุษย์พัฒนาความสุขให้สูงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งหลุดพ้น แต่สำหรับมนุษย์ส่วนใหญ่ที่ยังไม่รู้หรือยังไม่ต้องการพัฒนา ก็มีคำสอนสำหรับคนทั่วไป ที่ต้องการมีความสุขเพียงขั้นที่ 1 ซึ่งใช้ได้กับมนุษย์ทุกชาติในโลก คือ ธรรมที่เรียกว่า “สุขของคฤหัสถ์”

สุขของคฤหัสถ์ หรือ คิหิสุข หรือ กามโภคีสุข 4 เป็นความสุขที่แท้จริงของปุถุชน ประกอบด้วย

  1. อัตถิสุข หรือสุขเกิดจากความมีทรัพย์ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจว่า ตนมีโภคทรัพย์ ที่ได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรง ความขยันหมั่นเพียรของตน และโดยชอบธรรม
  2. โภคสุข หรือสุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจว่า ตนได้ใช้ทรัพย์ที่ได้มาโดยชอบนั้น เลี้ยงชีพ เลี้ยงผู้ควรเลี้ยง และบำเพ็ญประโยชน์
  3. อนณสุข หรือสุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจว่า ตนเป็นไท ไม่มีหนี้สินติดค้างใคร
  4. อนวัชชสุข หรือสุขเกิดจากความประพฤติไม่มีโทษ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจว่า ตนมีความประพฤติสุจริต ไม่บกพร่องเสียหาย ใครติเตียนไม่ได้ ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ

ปรับปรุงล่าสุด 17/12/2564

ศัพทานุกรมการวิจัยทางประชากรและสังคม www.popterms.mahidol.ac.th
Copyright © Institute for Population and Social Research, Mahidol University
webmaster : prwww@mahidol.ac.th
Revised: Year 2015