ศัพทานุกรมการวิจัยทางประชากรและสังคม

ช่วยค้นหาศัพท์และนิยามศัพท์วิชาการในสาขาการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ประชากรศาสตร์ และสถิติ โดยคณะทำงานนิยามศัพท์ฯ ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

คำนำบันทึกการทําศัพทานุกรมการวิจัยทางประชากรและสังคม ฉบับปี 2558บันทึกการทําศัพทานุกรมการวิจัยทางประชากรและสังคม ฉบับปี 2547

search

a | b | c | d | e | f | g | h | i | j | k | l | m | n | o | p | q | r | s | t | u | v | w | x | y | z |

| | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | |
 

บันทึกการทำศัพทานุกรมการวิจัยทางประชากรและสังคม ฉบับปี 2547

"ศัพทานุกรมการวิจัยทางประชากรและสังคม" ทั้งที่อยู่ในรูปของหนังสือ และเว็บไซต์เป็นผลผลิตของ "โครงการนิยามศัพท์การวิจัยทางประชากรและสังคม" ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันฯ มีโครงการทำนองนี้มาแล้วในอดีต โดยการพิมพ์หนังสือ "คู่มือประชากร" ซึ่งนิยามศัพท์เฉพาะที่เกี่ยวกับประชากรไว้จำนวนไม่มากนัก สถาบันฯ ได้เริ่มโครงการนิยามศัพท์อีกครั้งในปี พ.ศ.2545 โดยจัดตั้งเป็น "คณะทำงานนิยามศัพท์การวิจัยทางประชากรและสังคม" ขึ้นมา คณะทำงานฯ ชุดนี้ได้ทำงานกันอย่างจริงจัง ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2546 จนถึงกลางปี พ.ศ. 2547 คณะทำงานฯ ได้นิยามศัพท์ไว้แล้วจำนวน 1,170 คำ จึงได้จัดพิมพ์เป็นหนังสือ "ศัพทานุกรมการวิจัยทางประชากรและสังคม" และทำเป็นเว็บไซต์ชื่อ www.popterms.mahidol.ac.th เพื่อเผยแพร่ผลงานชุดแรกของคณะทำงานฯ นี้

ขอบเขตของศัพท์ที่จะนำมานิยาม

คำถามแรกของคณะทำงานฯ คงจะเหมือนๆ กับการทำพจนานุกรมเฉพาะสาขาวิชาทั้งหลาย คือ "จะนำคำศัพท์ใดมานิยาม" ศัพท์บางคำชัดเจนว่าต้องอยู่ในสาขาวิชานั้นแน่นอน แต่ศัพท์บางคำมีความคลุมเครือก้ำกึ่งว่าจะอยู่ในสาขาวิชานั้นหรือไม่ และศัพท์บางคำแม้จะอยู่นอกสาขาวิชา แต่ก็มีความเกี่ยวข้อง จนเกิดคำถามว่าสมควรจะนำมารวมไว้ด้วยหรือไม่

ในกรณีของโครงการนิยามศัพท์การวิจัยทางประชากรและสังคม คณะทำงานฯ ได้ตัดสินใจที่จะนำเอางานทั้งหมดของสถาบันฯ ทั้งการเรียนการสอน และการทำวิจัยทางด้านประชากรศาสตร์และสังคมศาสตร์ รวมทั้งการให้บริการเผยแพร่ความรู้ข่าวสารข้อมูลทางประชากรมาเป็นขอบเขตของศัพท์ที่จะนำมานิยาม โดยสรุปเรียกตามชื่อของสถาบันฯ ว่า "ศัพท์การวิจัยทางประชากรและสังคม" แม้กระนั้น ภายใต้ชื่อนี้ก็มีขอบเขตกว้างขวางมาก คณะทำงานฯ จึงได้จัดแบ่งศัพท์ที่จะนิยามออกเป็น 3 หมวดใหญ่ คือ (1) การวิจัย (2) ประชากร และ (3) สังคม

การวิจัย เป็นศัพท์ทางด้านการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ระเบียบวิธีวิจัย การเก็บรวบรวมข้อมูล ประมวลผล วิเคราะห์ และเสนอผล รวมทั้งศัพท์สถิติต่างๆ ที่ใช้ในการวิจัย

ประชากร เป็นศัพท์ทางด้านประชากรศาสตร์ ประชากรวิทยา และการศึกษาเรื่องประชากรทั่วๆ ไป

สังคม เป็นศัพท์ทางสังคม สุขภาพ การวางแผนครอบครัว อนามัยเจริญพันธุ์ รวมทั้งเรื่องนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกี่ยวข้องกับงานวิจัยทางสังคมที่สถาบันฯ ให้ความสนใจและดำเนินการอยู่

นอกจากนั้น ยังมีศัพท์ที่อาจเรียกว่าอยู่ใน "หมวดอื่นๆ" คือไม่สามารถจัดเข้าหมวดใดในทั้งสามหมวดดังกล่าวอยู่อีกจำนวนหนึ่ง เช่น ชื่อหน่วยงาน หรือองค์การต่างๆ การจัดหมวดเรื่องของคำศัพท์เช่นนี้เป็นเพียงการกำหนดขอบเขตสาขาวิชาที่จะเลือกศัพท์มานิยามเท่านั้น ในความเป็นจริง ศัพท์บางคำมีความหมายคาบเกี่ยวกันจนยากที่จะจัดให้อยู่เฉพาะในหมวดใดหมวดหนึ่ง

คณะทำงานฯ ได้เลือกศัพท์ที่จะนำมานิยามจากหลายแห่ง แต่แหล่งที่สำคัญที่สุดคือ จาก "ดัชนีเรื่อง" (subject index) ในตำราที่อยู่ในขอบเขต "การวิจัยทางประชากรและสังคม" แหล่งคำศัพท์อื่นๆ ได้แก่บทความ ข้อเขียน และรายงานการวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานของสถาบันฯ

วิธีการทำงาน

ในการนิยามศัพท์แต่ละคำ คณะทำงานฯ ได้ใช้วิธีศึกษาค้นคว้าจากตำราและข้อเขียนต่าง ๆ ทั้งที่พิมพ์เป็นเอกสาร และที่เผยแพร่ผ่านทางอินเตอร์เน็ต ศัพท์หลายคำสรุปนิยามจากการอภิปรายกันของคณะทำงานฯ ศัพท์หลายคำนิยามจากความรู้ความเข้าใจของคณะทำงานฯ ศัพท์ที่นำยามแล้วทุกคำจะต้องผ่านตาคณะทำงานฯ แม้ว่าคณะทำงานฯ แต่ละคนจะไม่ได้เป็นผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในทุกๆ เรื่อง แต่ทุกคนก็ได้มีส่วนสร้างสรรค์ในการนิยามและให้ความหมายศัพท์ทุกคำ ศัพท์ที่อยู่ในความสนใจหรือความถนัดของผู้ใด ผู้นั้นก็จะไปค้นคว้ามานำเสนอ ส่วนผู้ที่ไม่ได้อยู่ในสาขาวิชานั้น ก็สมมุติตัวเองว่าเป็น "คนทั่วไป" ที่เมื่อได้ฟังคำอธิบายหรือนิยามของคำนั้นๆ แล้วจะเข้าใจหรือไม่อย่างไร

ในเรื่องรูปแบบของการให้คำนิยามศัพท์ ผู้ใช้ "ศัพทานุกรมการวิจัยทางประชากรและสังคม" อาจจะสังเกตเห็นได้ว่า การนิยามศัพท์ของโครงการฯ นี้มีรูปแบบไม่ตายตัวนัก ศัพท์บางคำอธิบายไว้ยาวมาก แถมมีตัวอย่างประกอบ แต่ศัพท์บางคำก็นิยามไว้แต่เพียงสั้นๆ ที่จริงแล้ว คณะทำงานฯ พอใจที่จะนิยามศัพท์ไว้อย่างสั้นๆ คือนิยามให้กระชับแต่ได้ความหมาย อย่างไรก็ตาม ศัพท์บางคำจำเป็นจะต้องอธิบายความหมายกันค่อนข้างยาว และบางคำจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น เมื่อมีรูปภาพหรือตัวอย่างประกอบ

ปัญหาในการนิยามศัพท์อีกประการหนึ่ง ค้อการบัญญัติศัพท์เป็นภาษาไทย สำหรับศัพท์ภาษาอังกฤษบางคำที่ไม่เคยมีการบัญญัติเป็นภาษาไทยไว้ก่อน คณะทำงานฯ ก็พยายามริเริ่มศัพท์ภาษาไทยที่คิดว่าเหมาะสมกับความหมายของคำนั้นๆ ศัพท์ภาษาอังกฤษบางคำที่มีผู้ใช้ศัพท์ภาษาไทยแตกต่างกัน คณะทำงานฯ จะเลือกศัพท์ภาษาไทยมาใส่ไว้มากกว่าหนึ่งคำ ด้วยความหวังว่าต่อไปศัพท์ภาษาไทยบางคำอาจ "ติดตลาด" และบางคำที่ไม่มีใครนิยมใช้ก็จะจางหายไปเอง การที่ให้ศัพท์ภาษาไทยมากกว่าหนึ่งคำเช่นนี้ ยังมีประโยชน์ที่ทำให้รู้ว่าศัพท์ภาษาอังกฤษคำนั้นมีผู้ใช้ศัพท์ภาษาไทยต่างๆ กันอย่างไร

โครงการนิยามศัพท์การวิจัยทางประชากรและสังคมในอนาคต

คณะทำงานฯ ตระหนักดีว่า ยังมีศัพท์อีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้รวบรวมไว้ ในขณะเดียวกัน ก็มีศัพท์ในวงการวิจัยทางด้านประชากรและสังคมที่เกิดขึ้นใหม่ๆ คำถามคือ จะทำให้โครงการนี้มีความสมบูรณ์ที่สุดได้อย่างไร และจะนำศัพท์ที่ยังไม่ได้นิยามไว้มารวบรวมเพิ่มเติมได้อย่างไร คำตอบที่ง่ายที่สุด (แต่อาจปฏิบัติได้ไม่ง่ายนัก) คือ ต้องทำให้ "โครงการนิยามศัพท์การวิจัยทางประชากรและสังคม" ไม่จบสิ้นลงเพียงเมื่อได้ผลผลิตเป็นหนังสือและเว็บไซต์เท่านั้น หากต้องทำให้โครงการฯ นี้มีกิจกรรมต่อเนื่องไปอีก ที่สำคัญคือ ต้องสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ใช้และผู้ผลิตศัพท์ทางวิชาการ เครือข่ายนี้ต้องขยายวงออกไป ครอบคลุมชุมชนนักวิจัยทางสังคมศาสตร์ ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศให้กว้างขวางออกไปอีก โครงการฯ มีแผนที่จะรวบรวมศัพท์มานิยามเพิ่มเติม และปรับปรุงแก้ไขศัพท์ที่ได้นิยามไว้แล้วให้ถูกต้องสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ผลผลิตของโครงการฯ ทั้งในรูปของหนังสือและเว็บไซต์ที่ปรากฏอยู่นี้เป็นเพียงผลงานของโครงการฯ ระยะแรกเท่านั้น โครงการฯ จะยังคงดำเนินต่อไป ดังนั้นข้อวิจารณ์ ความคิดเห็น คำถาม คำแนะนำ จากผู้อ่านหนังสือและผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ "ศัพทานุกรมการวิจัยทางประชากรและสังคม" จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาและปรังปรุงงานของโครงการนิยามศัพท์ฯ ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป


ศาสตราจารย์ ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล
ประธานคณะทำงานนิยามศัพท์ฯ

ศัพทานุกรมการวิจัยทางประชากรและสังคม www.popterms.mahidol.ac.th
Copyright © Institute for Population and Social Research, Mahidol University
webmaster : prwww@mahidol.ac.th
Revised: Year 2015