ศัพทานุกรมการวิจัยทางประชากรและสังคม

ช่วยค้นหาศัพท์และนิยามศัพท์วิชาการในสาขาการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ประชากรศาสตร์ และสถิติ โดยคณะทำงานนิยามศัพท์ฯ ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

คำนำบันทึกการทําศัพทานุกรมการวิจัยทางประชากรและสังคม ฉบับปี 2558บันทึกการทําศัพทานุกรมการวิจัยทางประชากรและสังคม ฉบับปี 2547

search

a | b | c | d | e | f | g | h | i | j | k | l | m | n | o | p | q | r | s | t | u | v | w | x | y | z |

| | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | |
 

population theory

ทฤษฎีทางประชากร

กรอบแนวคิดที่ใช้อธิบายหรือพยากรณ์แนวโน้มและการเปลี่ยนแปลงประชากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างประชากรกับปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม จิตวิทยา การเมือง และอื่นๆ ความพยายามที่จะทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางประชากรนั้นมีมาช้านานตั้งแต่สมัยกรีกและจีนโบราณ อย่างไรก็ตาม แนวคิดสมัยโบราณเหล่านั้นมักอธิบายปรากฏการณ์ประชากรว่าควรจะเป็น อย่างไรและจะเกิดขึ้นได้อย่างไร รวมทั้งเหตุและผลของปรากฏการณ์ทางประชากร นักคิดในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ และสมัยต่อมาจนถึงปัจจุบันได้เสนอกรอบแนวคิดที่ซับซ้อนขึ้นเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางประชากรและเชื่อมโยงกับปัจจัยภายนอกอื่นๆ โดยอาศัยหลักฐานเชิงประจักษ์และวิธีการวิเคราะห์ทางประชากร อาจกล่าวได้ว่า ทฤษฎีประชากรสมัยใหม่ที่เป็นรูปเป็นร่างชัดเจนและพัฒนามาจนถึงทุกวันนี้ เริ่มด้วยแนวคิดทางประชากรของทอมัส รอเบิร์ต มัลทัส (Thomas Robert Malthus) ซึ่งกล่าวถึงความสัมพันธ์ที่ไม่สมดุลกันระหว่างการเพิ่มจำนวนประชากรกับการเพิ่มอาหาร ซึ่งนำไปสู่ข้อเสนอในการจำกัดการเพิ่มประชากรด้วยมาตรการที่ยอมรับได้ในทางศีลธรรมสมัยนั้น ในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ นักคิดจากศาสตร์แขนงต่างๆ ที่สนใจประเด็นเกี่ยวกับประชากรได้เสนอกรอบแนวคิดจำนวนมากเพื่ออธิบายองค์ประกอบและการเปลี่ยนแปลงประชากรในมิติต่างๆ ตัวอย่างทฤษฎีทางประชากรร่วมสมัย เช่น ทฤษฎีการเปลี่ยนผ่านทางประชากร (demographic transition theory) ทฤษฎีการเปลี่ยนผ่านทางวิทยาการระบาด (theory of epidemiologic transition) ทฤษฎีการตอบโต้หลายทาง (theory of multiphasic response) ทฤษฎีการแพร่กระจาย (diffusion theory) คหเศรษฐศาสตร์แนวใหม่ (new home economics) ทฤษฎีการถ่ายเทโภคทรัพย์ (wealth flow theory)

พจนานุกรมศัพท์ประชากรศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน

ดูเพิ่มเติม

ศัพทานุกรมการวิจัยทางประชากรและสังคม www.popterms.mahidol.ac.th
Copyright © Institute for Population and Social Research, Mahidol University
webmaster : prwww@mahidol.ac.th
Revised: Year 2015