ศัพทานุกรมการวิจัยทางประชากรและสังคม

ช่วยค้นหาศัพท์และนิยามศัพท์วิชาการในสาขาการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ประชากรศาสตร์ และสถิติ โดยคณะทำงานนิยามศัพท์ฯ ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

คำนำบันทึกการทําศัพทานุกรมการวิจัยทางประชากรและสังคม ฉบับปี 2558บันทึกการทําศัพทานุกรมการวิจัยทางประชากรและสังคม ฉบับปี 2547

search

a | b | c | d | e | f | g | h | i | j | k | l | m | n | o | p | q | r | s | t | u | v | w | x | y | z |

| | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | |
 

euthanasia

สุมรณ์

การตั้งใจทำให้ชีวิตของบุคคลยุติลง เพื่อให้พ้นจากความเจ็บปวดทรมาน

euthanasia มาจากรากศัพท์ภาษากรีก สมาสกันระหว่างคำว่า eu (well, good) กับคำว่า thanatos (death) จึงเท่ากับ good death และแปลเป็นภาษาไทยตรงตัวว่า สุมรณ์ (การตายที่ดี) สำหรับคำว่า สุ แปลว่า ดี (good) มรณะ มรณ์ แปลว่า ตาย (death)

สุมรณ์ อาจแบ่งประเภทออกได้ดังนี้

1. สุมรณ์เชิงรุก (active euthanasia)

1.1 สุมรณ์เชิงรุกโดยสมัครใจ (voluntary active euthanasia) การที่บุคคลตัดสินใจจบชีวิตลงอย่างมีสติด้วยตนเอง หรือขอให้บุคคลอื่น (เช่น แพทย์) ช่วยทำให้
1.2 สุมรณ์เชิงรุกโดยไม่สมัครใจ (involuntary active euthanasia) การที่บุคคลซึ่งอยู่ในสภาวะไม่สามารถตัดสินใจเองได้ หรือไม่สามารถให้ความยินยอมได้ (เช่น เนื่องจากอยู่ในอาการโคม่า) บุคคลอื่น (เช่น แพทย์) จึงช่วยทำให้เขาจบชีวิตลง เพื่อให้พ้นจากความเจ็บปวดทรมาน

2. สุมรณ์เชิงรับ (passive euthanasia)

2.1 สุมรณ์เชิงรับโดยสมัครใจ (voluntary passive euthanasia) การที่บุคคลอื่น (เช่น แพทย์) ไม่ทำการรักษาเพื่อยื้อชีวิตของบุคคล และหรือปล่อยให้สิ้นใจไปตามเวลา ตามที่บุคคลนั้นได้แสดง “ชีวเจตนา” (living will) ไว้ล่วงหน้า
ตัวอย่างเช่น บุคคลแสดงเจตนาไม่รับการรักษาเพื่อยื้อชีวิตไว้ เมื่อหมดทางรักษาแล้ว ตามมาตรา 12 ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550
2.2 สุมรณ์เชิงรับโดยไม่สมัครใจ (involuntary passive euthanasia) การที่บุคคลอื่น (เช่น แพทย์) ไม่ทำการรักษาเพื่อยื้อชีวิต โดยปล่อยให้บุคคลนั้นเสียชีวิตไปตามเวลา

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 15/03/2567

ศัพทานุกรมการวิจัยทางประชากรและสังคม www.popterms.mahidol.ac.th
Copyright © Institute for Population and Social Research, Mahidol University
webmaster : prwww@mahidol.ac.th
Revised: Year 2015